ปวดโคนนิ้วหัวแม่เท้า เชื่อว่าหลายคนมีอาการนี้ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่นิยมใส่รองเท้าส้นสูง ในช่วงแรกอาจแค่มีอาการปวดเวลาสวมใส่รองเท้า แต่หากทิ้งไว้นานโดยไม่แก้ไขให้ถูกวิธี จะกลายเป็นภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป หรือที่เรียกกันว่า Hallux Valgus หรือ Bunion ซึ่งเป็นอาการเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเท้า หลัง ข้อต่อ และการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าที่คุณคิด วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป ทั้งสาเหตุ วิธีป้องกัน และวิธีรักษากันค่ะ
ปวดโคนนิ้วหัวแม่เท้า กับโรค Hallux Valgus
ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (bunion หรือ hallux valgus) เป็นภาวะที่มีกระดูกปูดบริเวณข้อต่อตรงโคนนิ้วหัวแม่เท้าเนื่องจากนิ้วหัวแม่เท้าเอนเข้าไปชิดกับนิ้วชี้ ทำให้ข้อต่อหัวแม่เท้าโตขึ้นและปูดออกมา อาจพบว่าหนังบริเวณโคนนิ้วที่ยื่นออกมาอาจเป็นสีแดงซึ่งทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากผิวหนังทั้งที่จริงแล้วมีสาเหตุจากกระดูก ทั้งนี้ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงนี้จะค่อยๆ เกิดขึ้น โดยผู้ที่มีภาวะนี้อาจสังเกตได้ว่านิ้วหัวแม่เท้าตัวเองดูเอียงงอผิดปกติ ไม่สวยงาม มีอาการ ปวดโคนนิ้วหัวแม่เท้า เวลาเดิน ทำให้เดินได้ลำบาก หรือมีปัญหาในการใส่รองเท้า
ปกติแล้วเวลาเราเดิน นิ้วหัวแม่เท้าจะต้องงอประมาณ 75 องศาก่อนที่เท้าจะก้าวพ้นพื้น แต่ถ้านิ้วหัวแม่เท้าไม่สามารถงอในลักษณะที่ช่วยเป็นแรงส่งได้ก็จะเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมา ซึ่งภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป เป็นภาวะที่มีนิ้วหัวแม่เท้าส่วนปลายเอียงเข้าหานิ้วชี้ ทำให้กระดูกของนิ้วหัวแม่เท้านูนออกมา ปลายเท้าแบนกว้างขึ้น ถ้าเป็นมาก ๆ ปลายนิ้วหัวแม่เท้าจะซ้อนใต้นิ้วเท้า การเอียงจะทำให้แรงดึงในเส้นเอ็นต่าง ๆ ของนิ้วเท้าผิดแนวไป และยิ่งทำให้นิ้วผิดรูปมากขึ้นเรื่อย ๆ จนการเกิดอักเสบของข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าตามมา
สาเหตุของนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป
หัวแม่เท้าเอียงเกิดจากแรงกดที่กระทำต่อบริเวณข้อนิ้วหัวแม่เท้า ซึ่งจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคของเท้า ทำให้การลงน้ำหนักของกล้ามเนื้อและข้อต่อไม่เท่ากัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย
1. ใส่รองเท้าคับ เล็กเกินไป และส้นสูงเกินไป
โดยเฉพาะรองเท้าหัวแหลม จะยิ่งทำให้นิ้วโป้งเท้ารับแรงกดมาก เพราะน้ำหนักตัวถูกทิ้งไปที่นิ้วเท้า ภาวะนี้มักเกิดขึ้นกับเพศหญิงวัยกลางคนขึ้นไป เพราะใส่ส้นสูงอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี
2. เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือพันธุกรรม
เช่น เท้าแบน ข้อหรือกล้ามเนื้อหลวม การมีกระดูกนิ้วเท้าชิ้นหนึ่งที่ยาวผิดปกติ หรือกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเอียงออกเอง
3. เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
เช่น ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม รูมาตอยด์ ก็ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบ จะมีอาการ ปวดโคนนิ้วหัวแม่เท้า
4. โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบางชนิด
เช่น Marfan syndrome, Ehlers-Danlos syndrome และ Down syndrome
5. การบาดเจ็บที่เท้า
บางคนอาจเคยบาดเจ็บที่เท้า ทำให้เกิดเนื้อเยื่อยึดติดหรือที่เรียกว่าพังผืด เกิดขึ้นบริเวณใดบริเวณหนึ่งของเท้า ทำให้เคลื่อนไหวลำบากเพราะกล้ามเนื้อและกระดูกถูกพังผืดดึงรั้ง ปล่อยทิ้งไว้นานอาจทำให้ตำแหน่งของกระดูกผิดรูปได้
6. โรคทางระบบประสาท และกล้ามเนื้อบางชนิด
เช่น cerebral palsy และ Charcot-Marie-Tooth
อาการของภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง
ที่คนส่วนใหญ่เป้นโรคนี้กันมาก เพราะในระยะแรกที่นิ้วหัวแม่เท้าเริ่มเอียงอาจจะไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อนิ้วหัวแม่เท้าเริ่มเอียงมากขึ้นหรือเมื่อสวมรองเท้าที่มีหัวรองเท้าแคบบีบรัดอาจเริ่มมีอาการแสดงที่สังเกตได้ เช่น
- โคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านนอกปูดเป็นปุ่ม
- โคนนิ้วหัวแม่เท้าบวม แดง หรือปวด
- รู้สึกปวดเท้าเป็นพักๆ หรือปวดไม่ยอมหาย
- หนังบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าหนาขึ้น
- ขยับนิ้วหัวแม่เท้าได้เล็กน้อย ทำให้เดินได้ลำบาก
ผลกระทบของภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป
คนที่มีภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูปในระยะแรกอาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ อาจสังเกตเห็นเพียงนิ้วเท้าเอียงไม่สวยงาม จนมารู้สึกอีกทีก็รู้สึกปวดนิ้วเท้าและโคนนิ้วหัวแม่เท้าที่อยู่ระหว่างนิ้วชี้แล้ว นิ้วเท้าจะมีอาการบวมแดง ยิ่งถ้าใส่รองเท้า เดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักที่เท้าจะรู้สึกเจ็บปวดยิ่งขึ้น
ความทรมานของผู้ป่วยโรคนี้คือ
- ปวดที่ข้อนิ้วหัวแม่เท้า และปวดมากขึ้นหากใส่รองเท้าคับๆ
- มีปัญหาในการเดินปกติ
- มีการอักเสบของผิวหนังบริเวณขอบนอกของหัวแม่เท้า
- นิ้วหัวแม่เท้าชา
- รู้สึกแสบร้อน
- มีตาปลาเกิดขึ้นบริเวณที่นิ้วเท้าเสียดสีกัน
ภาวะแทรกซ้อนของการมีหัวแม่เท้าเอียง
- ถุงน้ำป้องกันการเสียดสีอักเสบ (bursitis) คือ การอักเสบของถุงน้ำที่เป็นตัวรองรับการเสียดสีบริเวณกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อใกล้ข้อต่อ ทำให้เกิดอาการปวด
- นิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ (hammer toe) โดยมีสาเหตุจากข้อต่อตรงกลางนิ้วโค้งงอผิดปกติ ทำให้ปวดและมีแรงกด
- อาการปวดและการอักเสบที่ฝ่าเท้า
วิธีแก้ไขเพื่อรักษาอาการ
ในกรณีที่คนไข้มีอาการปวดมาก ๆ และมีข้อผิดรูปมาก หรือมีลักษณะของข้อเสื่อมเกิดขึ้น แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัด แต่ถ้าอาการที่เป็นยังไม่ได้รุนแรง เป็นเพียงเริ่มต้นผิดรูปและมีอาการปวดโคนนิ้วเป็นระยะ การรักษาขั้นแรกของภาวะนี้ คือการรักษาแบบประคับประคอง และเน้นเรื่องการลดอาการ ได้แก่
- การใส่รองเท้าหัวกว้าง ให้รองเท้ามีการขยายออกเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับนิ้วเท้า
- ใส่ที่คั่นนิ้วเท้า (Toe spacers), อุปกรณ์ดัดนิ้วเท้า (Bunion splints) และ Bunion pads
- ใส่แผ่นรองรองเท้าหรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อช่วยกระจายน้ำหนักให้เท่ากันระหว่างการเดิน
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้มีอาการปวด เช่น การเล่นกีฬา
- ประคบร้อนหรือประคบเย็น หรือรับประทานยาในกลุ่ม NSAID เช่น Advil (ibuprofen) หรือ Aleve (naproxen) เมื่อมีอาการระคายหรือเจ็บที่หัวแม่เท้า
- ฉีดสเตียรอยด์
การเลือกรองเท้าสำหรับผู้ที่มีภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง
การเลือกสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับอาการเป็นวิะีการรักษาในเบื้องต้นอย่างหนึ่งที่แพทย์แนะนำ โดยรองเท้าที่แพทย์แนะนำมีลักษณะดังนี้
- เลิกใส่รองเท้าปลายแหลม รองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าที่คับเกินไปให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นผลการรักษาจะไม่คืบหน้าเลย
- ขนาดพอดี ไม่คับ
- หัวรองเท้ากว้าง (wide toe box) ใส่แล้วสามารถขยับนิ้วเท้าได้ ไม่บีบรัดนิ้วเท้า ถ้าจะให้ดีควรสามารถปรับระดับได้ตามรูปทรงของเท้า
- พื้นรองเท้านุ่ม มีรูปทรงรองรับอุ้งเท้าได้อย่างเหมาะสม
- สำหรับผู้ที่มีอาการปวดระหว่างเดิน ควรการใส่อุปกรณ์ประคองนิ้วเท้า เช่น เจลคั่นนิ้วเท้า (gel toe separator) หรืออุปกรณ์ป้องกันนิ้วโป้งเก (Hallux valgus splint)